บทสรุปคิดค่าโทร.เป็นวินาที "เป็นธรรม" ไม่จำเป็นต้อง "ราคาถูก" ?

บทสรุปคิดค่าโทร.เป็นวินาที "เป็นธรรม" ไม่จำเป็นต้อง "ราคาถูก" ?

บทสรุปคิดค่าโทร.เป็นวินาที "เป็นธรรม" ไม่จำเป็นต้อง "ราคาถูก" ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     จุดเริ่มต้นของการผลักดันให้ค่ายมือถือคิดค่าโทร.เป็นวินาทีของ "กสทช." เกิดจากมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลาการใช้งานที่เป็นจริง โดยคิดเป็นวินาทีตามรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค (6 ม.ค. 2558)

     รับลูกทันที เลขาธิการ กสทช. "ฐากร ตัณฑสิทธิ์" ขานรับมติ สปช.จัดแจงเรียกประชุมค่ายมือถือเพื่อขอความร่วมมือ สุดท้ายได้ข้อสรุปว่า ทุกเจ้าจะมีแพ็กเกจพิเศษเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค ตั้งแต่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่หลัง 1 มี.ค.ทุกแพ็กเกจใหม่ต้องคิดค่าโทร.เป็นวินาทีทั้งหมด


พลันที่แพ็กเกจทางเลือกใหม่ของค่ายมือถือออกสู่ตลาดกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาใหม่

     เมื่อ "ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา" กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกิจการโทรคมนาคมออกมาระบุว่า แพ็กเกจใหม่ที่คิดค่าโทร.เป็นวินาที แพงกว่าแพ็กเกจที่คิดค่าโทร.เป็นนาทีตามโปรโมชั่นเดิมถึง 60% แถมยังคงมีการคิดค่าบริการแบบปัดเศษในบางโปรโมชั่น

     "จริงอยู่ที่การคิดค่าโทร.เป็นวินาที ไม่ได้หมายความว่าค่าโทร.จะถูกลงหรือแพงขึ้น เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ต้องแยกเรื่องราคากับวิธีคิดเงินออกจากกัน แต่สิ่งที่มันควรจะเป็นคือ คิดค่าบริการที่เป็นธรรม คือถ้าผู้บริโภคไม่ได้ใช้งานก็ไม่ควรต้องจ่ายเงิน ที่ผ่านมาการปัดเศษวินาทีเป็นนาทีทำให้ค่ายมือถือได้กำไรจากส่วนนี้อย่างน้อย 20% ขณะที่ในต่างประเทศคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที แต่เวลาแจ้งรายละเอียดค่าโทร.เป็นนาที ซึ่งค่าโทร.แบบคิดเป็นวินาทีอาจแพงกว่าแบบเดิมเล็กน้อย เพราะแม้แต่ผู้ให้บริการในต่างประเทศก็บอกว่า ทำให้มีภาระจึงขอคิดแพงกว่านิดหนึ่ง เบ็ดเสร็จแล้วแม้ชาร์จแพงขึ้น แต่ผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเพราะไม่ต้องจ่ายในส่วนที่ไม่ได้ใช้"

     แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือ โอเปอเรเตอร์คิดค่าโทร.เป็นวินาทีแพงขึ้นกว่าเดิมถึง 60% ทำให้สุดท้ายแล้วค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายนอกจากไม่ลดลงยังอาจแพงขึ้นกว่าเดิม

     "ที่ผ่านมาคุณได้กำไรจากการปัดเศษวินาทีเป็นนาทีราว 20% ถ้าจะชาร์จเพิ่มเกินกว่าที่เคยได้สัก 5-10% เป็นอัตราที่ยอมรับได้ ไม่น่าเกินกว่านี้ แต่นี่มากถึง 60% ที่สำคัญยังไม่ควรเป็นแค่ทางเลือก แต่ต้องใช้วิธีคิดนี้กับทุกโปรโมชั่น" น.พ.ประวิทย์ย้ำ

     สาเหตุโปรโมชั่นใหม่ออกมาแบบนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินการของ "กสทช." เป็นเพียงการขอความร่วมมือ และไม่ชัดเจนว่าหากไม่ปฏิบัติตามถือว่าฝ่าฝืนกฎหมายใด และมีโทษอย่างไร แม้สำนักงาน กสทช.จะยืนยันสามารถใช้เงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2.1 GHz มารองรับได้ก็ตาม

     "นอกจากอาศัยแค่การขอความร่วมมือแล้ว ยังไปติดกับดักของเอกชน โดยอ้างอัตราค่าโทร.ขั้นสูงที่นาทีละ 99 สตางค์ หรือลดลง 15% ตามเงื่อนไขใบอนุญาต 2.1 GHz จึงไม่แปลกที่จะเห็นค่ายมือถือคิดค่าโทร.เป็นวินาทีออกมาแพงขนาดนี้ ทั้งที่ต้นทุนค่า IC บน 3G ถูกลงมามากแล้ว"

     "น.พ.ประวิทย์" กล่าวด้วยว่า ในฐานะกรรมการ กสทช.ต้องเดินหน้าผลักดันให้มีการกำหนดเรื่องการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที เข้าไปในร่างประกาศ กสทช.เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. ...ซึ่งอยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์ คาดว่าจะประกาศใช้ได้ในเดือน พ.ค.นี้ เพื่อให้มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน

     ด้าน "สารี อ๋องสมหวัง" ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สปช. ต้นเรื่องที่ผลักดันเรื่องนี้จนเป็นมติของ "สปช." กล่าวว่า กรรมาธิการได้มีการวิเคราะห์แพ็กเกจใหม่ของทั้ง 3 ค่ายแล้วพบว่าค่าบริการแพงกว่าเดิมถึง 62% ซึ่งเป็นเรื่องไม่เกินความคาดหมาย จึงชัดเจนว่าหาก กสทช.ไม่เร่งออกหลักเกณฑ์มากำกับการคิดค่าบริการให้เป็นธรรมจะเกิดการเอาเปรียบผู้บริโภคต่อไปเรื่อย ๆ

     ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" เปรียบเทียบค่าบริการระหว่างแพ็กเกจเดิมกับแพ็กเกจที่คิดค่าบริการเป็นวินาทีพบว่า แพ็กเกจเดิมราคาถูกกว่าเกือบเท่าตัว เช่น เอไอเอสมี "โปร 3 คุ้ม" เฉลี่ยแล้ว 60 วินาทีแรกคิดค่าบริการ 1.6 สตางค์/วินาที วินาทีถัดไปคิด 0.41 สตางค์/วินาที แต่ "โปรวิวิ"ที่ออกมาคิด 1.6 สตางค์/วินาที เช่นกันกับแพ็กเกจรายเดือน เมื่อเทียบ iSmart 399 บาท/เดือน โทร.ได้ 150 นาที กับโปรโมชั่นใหม่ iSecond 345 บาท/เดือน โทร.ได้ 4,800 วินาที หรือ 80 นาทีเท่านั้น

     ฟาก "ดีแทค" มีแพ็กเกจเติมเงิน "โทร.คุ้ม 25 สตางค์ ทุกเครือข่าย" เฉลี่ยคิดค่าโทร. 60 วินาทีแรก 1.65 สตางค์/วินาที หลังจากนั้น 0.41 สตางค์/วินาที ถูกกว่าแพ็กเกจใหม่ที่คิดค่าโทร.เป็นวินาทีเกือบครึ่งหนึ่งเช่นกัน เมื่อโทร.มากกว่า 2 นาทีขึ้นไป

     ส่วน "ทรูมูฟ เอช" เมื่อนำ "โปรคุ้มทุกวิ" ค่าโทร. 1.6 สตางค์/วินาที มาเทียบกับแพ็กเกจเติมเงิน "โปรสบาย" เดิมที่ค่าโทร.เฉลี่ย 60 นาทีแรก 1.65 สตางค์/วินาที หลังจากนั้นคิดที่ 0.41 สตางค์/วินาที แพงกว่าเกือบเท่าตัวเมื่อโทร.มากกว่า 2 นาที

     "ฐิติพงศ์ เขียวไพศาล" ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโสสายงานการตลาดและการขาย บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากการคำนวณค่าบริการเป็นวินาที คือผู้ใช้งานแบบโทร.สั้น เพราะทำให้คนที่โทร.ไม่เกิน 1 นาทีใช้งานได้นานขึ้น แต่หากโทร.นานจะมีแพ็กเกจอื่นที่คุ้มค่ากว่า เช่น เหมาจ่ายเป็นชั่วโมง หรือโทร.ฟรีในช่วงเวลาที่กำหนด เป็นต้น

     "การที่ กสทช.ให้โอเปอเรเตอร์ทุกรายทำแพ็กเกจแบบวินาทีออกมา น่าจะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันรูปแบบใหม่อย่างเท่าเทียมเพราะทุกค่ายต้องมีแพ็กเกจเหมือนกันหมด แต่ก็ยังมองว่า แพ็กเกจวินาทีน่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม หรือเพิ่มทางเลือกให้ผู้ที่มีพฤติกรรมในการโทร.สั้นมากกว่า ขณะนี้บริษัทได้ออกแพ็กเกจที่มีโครงสร้างคำนวณค่าบริการเป็นวินาทีออกมาทั้งระบบเติมเงินและรายเดือน โดยไม่บังคับให้ผู้ใช้บริการเดิมย้ายมาอยู่ในแพ็กเกจใหม่ทั้งสองตัวนี้"

     ด้าน "ซิกวาร์ท โวส เอริคเซน" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ได้ออกแพ็กเกจใหม่ที่คิดค่าโทร.เป็นวินาทีตามที่ กสทช.ขอความร่วมมือแล้ว และจากนี้จะดูผลตอบรับของผู้บริโภคก่อนว่าจะไปในทิศทางใด เพื่อสร้างความพึงพอใจให้ผู้ใช้งานในระบบมากที่สุด ทั้งยังมองว่าการที่โอเปอเรเตอร์ทุกค่ายคิดค่าบริการเป็นวินาที ไม่ได้ทำให้การแข่งขันมากขึ้นไปกว่าเดิม

     "กิตติณัฐ ทีคะวรรณ" หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์ ธุรกิจโมบาย และหัวหน้าสายงานการพาณิชย์ และพัฒนาธุรกิจโมบาย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า การคิดค่าบริการของบริษัทจะเป็นการคำนวณแบบวินาทีทั้งหมด รวมถึงสร้างทางเลือกใหม่ให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้โทรศัพท์มือถือ ปัจจุบันการแข่งขันทั้งแพ็กเกจ, ดีไวซ์ และบริการต่าง ๆ มีการปรับเปลี่ยนเพื่อจูงใจผู้บริโภคโดยตลอด

     ถัดจากคิดค่าโทร.เป็นวินาทีแล้ว สำนักงาน "กสทช." จัดต่อด้วยการนัดหารือกับค่ายมือถือเพื่อขยายผลไปยังการคิดค่าบริการ "โมบายอินเทอร์เน็ตแบบไม่ปัดเศษ" โดยเชิญทุกรายมาประชุมร่วมกัน (24 ก.พ. 2558) ที่ผ่านมา แต่ปรากฏตัวแทนจากทุกค่ายแจ้งว่า ปัจจุบันคิดค่าบริการแบบไม่ปัดเศษอยู่แล้ว และหากลูกค้าเลือกใช้แพ็กเกจที่คิดค่าบริการตามปริมาณข้อมูลที่ใช้ ก็จะคำนวณตาม "กิโลไบต์ (KB)" โดยไม่ปัดเศษเป็นเมกะไบต์ (MB) หรือหากเป็นแพ็เกจที่คิดตามเวลาใช้ก็คำนวณค่าบริการตาม "วินาที" ที่ใช้อยู่แล้ว

     เมื่อเป็นดังนั้น "เลขาธิการ กสทช." จึงยิงมุขใหม่ขอให้ทุกค่ายคิดบริการโมบายดาต้าในอัตราไม่เกิน 0.28 บาท/MB แต่ปรากฏว่าได้คำตอบจากทุกค่ายทันทีว่า เป็นเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตบริการคลื่น 2.1 GHz ที่ กสทช.กำหนดไว้อยู่แล้วจึงไม่มีใครเก็บเงินเกินอัตราข้างต้น

     สุดท้ายของการประชุมวันนี้มาจบลงที่การขอให้ผู้ให้บริการทุกรายยกเลิกการใช้คำว่าUnlimited ในการโฆษณาแพ็กเกจโมบายดาต้าทุกแพ็กเกจ โดยให้เปลี่ยนมาเป็นคำว่า "ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง" ด้วยเหตุผลว่า เพื่อป้องกันความสับสนของผู้บริโภคที่มักเข้าใจว่าสามารถใช้ได้ไม่มีจำนวนด้วยสปีดความเร็วเท่าเดิม

     เพราะจริง ๆ แล้วผู้ให้บริการต่างกำหนดเงื่อนไขการใช้งานด้วยความเร็วในระดับต่าง ๆ ด้วยการปรับลดสปีดเมื่อลูกค้าใช้ครบตามปริมาณที่กำหนด (Fair Usage Policy)

แน่นอนว่าไม่มีค่ายไหนปฏิเสธ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook