"เฟซบุ๊ก" เพิ่มฟังก์ชั่นใหม่ สกัดข่าวแหกตาบนนิวส์

"เฟซบุ๊ก" เพิ่มฟังก์ชั่นใหม่ สกัดข่าวแหกตาบนนิวส์

"เฟซบุ๊ก" เพิ่มฟังก์ชั่นใหม่ สกัดข่าวแหกตาบนนิวส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ IT.Talentz โดย siripong@kidtalentz.com

ข่าวสารข้อมูลที่วิ่งโลดแล่นมาทาง "เฟซบุ๊ก" นั้นมีอยู่มากมาย มันอาจจะเป็นสิ่งที่เจ้าของบัญชีคนนั้นๆ เขียนแล้วโพสต์ขึ้นมาเองพร้อมภาพหรือวิดีโอประกอบ หรือแชร์มาจากแหล่งต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน เมื่อแชร์มาบนเฟซบุ๊กมันยังมีการแชร์ต่อกันไปอีกตามธรรมชาติของโซเชียลเน็ตเวิร์ก



บ่อยครั้งมากที่สิ่งที่แชร์หรือโพสต์ ๆ กันบนเฟซบุ๊ก ที่ปรากฏบนนิวส์ฟีดหรือที่ปรากฏอยู่บนหน้าเฟซบุ๊ก เรียงกันเป็นตับลงมาในแต่ละวันเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่ไม่จริง โกหกหลอกลวง ชักนำให้เข้าใจผิดด้วยข้อมูลผิด ๆ ระบบที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายแบบซ้อนเหลื่อมกันของเฟซบุ๊ก และความสะดวกในการกดแชร์ ทำให้โอกาสที่ข่าวสารเหล่านั้นแพร่ขยายออกไปง่ายยิ่งขึ้น

ในบ้านเราก็เห็นอยู่บ่อย ๆ บางครั้งเรื่องที่แชร์มาก็เป็นเรื่องโกหกหลอกลวงเก่าแก่มานานหลายปี ที่ผ่านมาพิสูจน์ชัดแจ้งแล้วว่าโกหก ก็ยังมีการนำกลับมาแชร์แล้วแพร่หลายซ้ำแล้วซ้ำอีก 

แต่ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่บ่นกันไปทั้งโลกละครับ เสียงสะท้อนจากผู้ใช้งานที่เฟซบุ๊กได้รับเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีค่อนข้างมาก สิ่งที่ผู้ใช้งานต้องการให้เฟซบุ๊กจัดการคือช่วยลดการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลโกหกหลอกลวงเหล่านี้ให้น้อยลง

เฟซบุ๊ก"จัดให้"

บนบล็อกของเฟซบุ๊กไม่กี่วันมานี้เขียนถึงคุณสมบัติใหม่ที่เพิ่มเข้ามา มีเป้าหมายเพื่อลดการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลหลอกลวงผ่านเฟซบุ๊ก โดยเพิ่มในส่วนของการรายงานหรือรีพอร์ตที่มีตัวเลือกให้ระบุว่าเป็นเรื่องไม่จริง (It"s a false news story) รวมถึงตัวเลือกอื่นที่มีให้รายงานว่าเป็นภาพลามกอนาจาร ก่อความรำคาญ หรือล่วงเกินความคิดส่วนตัว เป็นต้น จากเดิมในการรายงานมุ่งเน้นไปที่สแปม

ส่วนที่เพิ่มมานี้จะอยู่ที่เดียวกับเวลาที่เราต้องการกดซ่อน (Hide) นั่นเอง เมื่อกดแล้วจะเห็นตัวเลือกในการรายงานเพิ่มเข้ามา

หลังจากข้อมูลข่าวสารที่โพสต์ชิ้นใดได้รับรายงานว่าเป็นข้อมูลข่าวสารไม่จริง สิ่งที่เฟซบุ๊กทำไม่ใช่การลบทิ้ง แต่จะลดความถี่ในการให้มันปรากฏบนนิวส์ฟีด ซึ่งก็จะทำให้โอกาสที่ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเห็นลดน้อยลง และหากมีการรายงานเข้าไปเป็นจำนวนมาก ๆ ถึงระดับหนึ่ง ระบบจะมีข้อความเตือนไว้ด้านบนของโพสต์นั้นว่า "คนจำนวนมากบนเฟซบุ๊กรายงานว่าเรื่องนี้มีส่วนที่เป็นข้อมูลเท็จอยู่"

วิธี นี้น่าจะช่วยลดเรื่องโกหกหลอกลวงที่ปรากฏบนเฟซบุ๊กให้น้อยลงได้พอสมควรจาก ปกติที่มีการตรวจสอบกันเองอยู่พอสมควรโดยธรรมชาติและผู้ใช้งานเฟซบุ๊กทั่ว ๆ ไปที่มีสามัญสำนึกก็มักจะย้อนกลับไปลบสิ่งที่ตัวเองแชร์หรือโพสต์มาหลังจาก การตรวจสอบซ้ำ เมื่อมีเพื่อน ๆ เข้ามาคอมเมนต์ว่าเป็นเรื่องไม่จริงหรือลวงโลก

มีข้อกังวลอยู่บ้างว่า ระบบแบบนี้ซึ่งทำไปโดยอัลกอริทึมของเฟซบุ๊ก อาจทำให้เกิดการกลั่นแกล้งรวมหัวกันรายงานเพื่อต่อต้านคนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง หรือเห็นว่าเป็นคนละฝ่ายได้ เท่าที่อ่านจากบล็อกของเฟซบุ๊กก็ไม่เห็นกล่าวถึง หากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นว่ามีโอกาสที่คนโพสต์หรือแชร์จะสามารถชี้แจงยืนยันข้อมูลข่าวสารนั้น ๆ กลับไปได้หรือไม่

ส่วนเนื้อหาที่มาจากแหล่ง ซึ่งมีความชัดเจนว่าจัดทำขึ้นเพื่อเป็นการเสียดสี ล้อเลียน สร้างความตลกขบขันนั้นจะไม่เกิดผลกระทบแต่อย่างใด แหล่งของเนื้อหาทำนองนี้ที่คนไทยบนเฟซบุ๊กคุ้นกันก็อย่างเช่น 9Gag เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติใหม่ที่เฟซบุ๊กแจงว่าเพิ่งมีใหม่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ยังไม่ปรากฏในการใช้งานในประเทศไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook